GUNKUL บ.ย่อย FEC คว้าโปรเจค กฟภ.มูลค่า 447.87 ลบ.หนุน EPC พุ่งแตะ 1 หมื่นลบ.
บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) มือขึ้น บริษัทย่อย ฟิวเจอร์ อีเล็คทริคอล คอนโทรล “FEC” คว้างานรับเหมาก่อสร้างสถานีไฟฟ้า -เคเบิลใต้ดิน จากกฟภ.มูลค่า 447.87 ล้านบาท หนุนงาน EPC ในมือพุ่งทะลุ1 หมื่นล้านบาท แย้มไตรมาส 2/2564 ทำผลงานโตไม่แพ้ช่วงเดียวกันของปีก่อน อานิสงส์ธุรกิจพลังงานทดแทน-งาน EPC หนุนเต็มสูบ “ดร.สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย” ระบุต่อจากนี้จะได้เห็นกลุ่ม GUNKUL เติบโตอย่างมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น จากการลุยธุรกิจพืชเศรษฐกิจ กัญชง-กัญชา เพิ่มช่องทางสร้างรายได้อย่างยั่งยืน แถมรุกหนักธุรกิจพลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศ ตอกย้ำปั๊มรายได้ปีนี้โตไม่น้อยกว่า20%
ดร.สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) เปิดเผยว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้พิจารณาตกลงให้ บริษัท ฟิวเจอร์ อีเล็คทริคอลคอนโทรล จำกัด (FEC) ซึ่งถือหุ้นโดย บริษัท กันกุล พาวเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(GPD) บริษัทย่อยของ GUNKUL ให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง สถานีไฟฟ้าท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ตามโครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่าย ระยะที่ 3 แผนที่ 1 และโครงการงานจ้างก่อสร้างเคเบิลใต้ดิน 1 จังหวัด 1 ถนน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เขตพื้นที่ กฟก.1 (จังหวัดนครนายก,จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดอ่างทอง)
นอกจากนี้ยังมีโครงการงานก่อสร้างเคเบิลใต้ดิน 1 จังหวัด 1 ถนน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เขตพื้นที่ กฟฉ.2 (จังหวัดกาฬสินธุ์,จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดอำนาจเจริญ) รวม 3 สัญญามูลค่าทั้งสิ้น 447,874,000 บาท ซึ่งการรับงานในครั้งนี้ ช่วยสนับสนุนงานรับเหมาและวางระบบทางด้านวิศวกรรม (EPC) ในมือ (Backlog) พุ่งแตะ 10,000 ล้านบาท โดยจะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวต่อถึง แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 2/2564 ของกลุ่มบริษัทฯ คาดว่าจะเติบโตสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากจะทยอยรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ได้จำหน่ายเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้วกว่า 650 เมกะวัตต์ และเชื่อว่าผลการดำเนินงานจะดีต่อเนื่องในไตรมาส 3-4/2564 โดยในครึ่งปีหลังบริษัทฯ เตรียมเข้าร่วมประมูลโครงการใหม่ๆ เพิ่มเติมอีกกว่า 20,000 ล้านบาท คาดว่าจะได้งานเพิ่มอีก 15-20% ส่งผลทำให้รายได้ของบริษัทฯ ในปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 10,000 ล้านบาท หรือเติบโตไม่ตำกว่า 20%
สำหรับความคืบหน้าในการลงทุนในธุรกิจกัญชง-กัญชา บริษัทฯ ได้ตรียมงบลงทุนไว้ประมาณ 1,900 ล้านบาท แบ่งลงทุนปี 2564-2566 เป็นงบลงทุนโรงเรือน 1,500 ล้านบาท,ลงทุนโรงสกัด 300 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ 100 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นขอใบอนุญาตในการปลูกกัญชา-กัญชงกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คาดว่าภายในเดือนกรกฎาคมนี้จะทราบผลการอนุมัติ
ส่วนโรงงานสกัดสารกัญชา-กัญชง (CBD) คาดว่าจะดำเนินการลงทุนในไตรมาส 1/2565 โดยกำลังการผลิตช่วงแรกจะอยู่ที่ 100 กิโลกรัมต่อวัน และตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 1,100 กิโลกรัมต่อวันในครึ่งหลังปี 2565 ซึ่งในปี 2565 บริษัทฯ จะทยอยรับรู้รายได้จากธุรกิจกัญชงประมาณ 1,500-2,000 ล้านบาทต่อปี และปี 2566 รับรู้รายได้เต็มปี
นอกจากนี้ บริษัทฯอยู่ระหว่างเตรียมเข้าลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์ม และวินด์ฟาร์มโรงไฟฟ้าพลังงานลมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในต่างประเทศจะเน้นลงทุนในเวียดนาม โดยได้มีการศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงงานลมรวม 400-500 เมกะวัตต์ และในประเทศไทยได้ศึกษาโครงการโซลาร์ฟาร์มและโรงไฟฟ้าพลังงานลมรวม 100 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทำให้ปี 2564 มีกำลังการผลิตเข้ามาอีกไม่ต่ำกว่า 100-150 เมกะวัตต์ โดยตั้งเป้ามีโรงไฟฟ้าที่ COD ทั้งหมดในปี 2566 ที่ 1,000 เมกะวัตต์